ชื่ออื่น ๆ : กระโดน(กลาง-ใต้), ปุยกระโดน(ใต้), ปุย(ใต้-เหนือ), ปุยขาว, พุย(ละว้า-เชียงใหม่), ขุย(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เส่เจ๊อะบะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หูกวาง(จันทบุรี), กะนอน(เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Careya sphaerica Roxb.
ชื่อวงศ์ : Lecythidaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระโดน ไม้ยืนต้น ขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-20 เมตร เปลือกต้นสีดำ หรือสีน้ำตาลดำหนา แตกล่อนเป็นแผ่น มีกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้สีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลแกมแดง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ เปลือกหนา แตกล่อน
- ใบกระโดน เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง15-25 เซนติเมตร ยาว 30-35 เซนติเมตร ปลายใบมน มีติ่งแหลมยื่น ฐานใบสอบเรียว ขอบใบหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง เนื้อใบหนา ค่อนข้างนิ่ม ก้านใบอวบ ยาว 2-3 เซนติเมตร หน้าแล้งใบแก่ท้องใบเป็นสีแดง แล้วทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-4 เซนติเมตร เกลี้ยง ใบก่อนร่วงมีสีแดง
- ดอกกระโดน ขนาดใหญ่ ช่อแบบกระจะ สั้นมาก มี 2-6 ดอก ออกตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ ดอกลักษณะคล้ายเป็นดอกเดี่ยว กลีบดอก 4 กลีบ รูปขอบขนาน แยกกัน ปลายกลีบ และขอบกลีบสีเขียวอ่อนโคนกลีบสีชมพู กลีบดอกยาวประมาณ 1-5 นิ้ว โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ร่วงง่าย ดอกบานกลางคืน และมักร่วงตอนเช้า ใบประดับกลม หรือรี 3 ใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกกัน ยาว 8-10 มิลลิเมตร สีเขียวอ่อน หนา ค่อนข้างมน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว 4-5 เซนติเมตร สีขาว ก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน เกสรที่สมบูรณ์อยู่ข้างใน จานฐานดอกรูปวงแหวน ขอบนูนขึ้น เกสรเพศเมียมีรังไข่ใต้วงกลีบ รูปกระสวยกลับ มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก เกสรเพศเมียติดคงทน ก้านเกสรเพศเมียยาว 4-6 เซนติเมตร
- ผลกระโดน รูปกลม หรือรูปไข่ มีเนื้อ สีเขียว ค่อนข้างแข็ง กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดทน และก้านเกสรเพศเมียติดที่ปลายผล ผลสดมีสีเขียวพอสุกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก
- เมล็ดกระโดน รูปร่างแบน เป็นรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือก, ใบ, ดอก, ผล, เมล็ด, ราก
สรรพคุณ กระโดน :
- ใบ รสฝาด ใช้รักษาแผลสด โดยนึ่งให้สุกใช้ปิดแผล หรือปรุงเป็นน้ำมันสมานแผล ใบอ่อน และยอดอ่อนรับประทานสดเป็นผักจิ้ม มีรสฝาด
- ดอก รสสุขุมบำรุงร่างกายหลังคลอดบุตร แก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ
- ดอก และน้ำจากเปลือกสด ใช้ผสมกับน้ำผึ้ง กินเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ และเป็นยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร
- ผล รสจืดเย็น ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหลังคลอด
- เมล็ด รสฝาดเมา เป็นพิษ
- ต้น ผสมกับเถายางน่อง และดินประสิว เคี่ยวให้งวด ตากแห้ง ใช้ปิดแผลมีพิษ ปิดหัวฝี
- เปลือกต้น รสฝาดเมา แช่น้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้พิษงู แก้อักเสบจากงูกัด ใช้เป็นยาสมาน ใช้สมานแผล แก้เคล็ดเมื่อย
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มได้สดๆ มีรสฝาด
- เปลือกใช้ต้มย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแดง ได้เส้นใยที่ได้จากเปลือกใช้ทำเชือก ทำเบาะรองหลังช้าง ทำกระดาษสีน้ำตาล