ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

ชื่อสมุนไพร : ขมิ้นชัน
ชื่ออื่น ๆ
 : ขมิ้นชัน, ขมิ้น (ทั่วไป), ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว (เชียงใหม่), ขี้มิ้น, หมิ้น (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Turmeric,Curcuma
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma Longa Linn.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขมิ้นชัน ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-95 เซนติเมตร มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ประกอบด้วยแง่งที่มีลักษณะต่างๆ กันคือ แง่งแม่หรือแง่งหลักจะมีลักษณะกลม ซึ่งจะเป็นที่แตกของแขนงที่สองและสามต่อไป แขนงที่แตกออกมานี้ถ้ามีลักษณะกลมจะเรียกว่า หัว และถ้ามีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือจะเรียกว่า นิ้ว ซึ่งเป็นที่เกิดของรากฝอย เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด และมีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินคือกาบก้านใบที่เรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม


  • ใบขมิ้นชัน เป็นใบเดี่ยว กลางใบสีแดงคล้ำ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม กว้าง 12-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร มีเส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจนทางด้านล่างของใบ ใบเรียงแบบสลับ และอยู่กันเป็นกลุ่ม


  • ดอกขมิ้นชัน จะออกเป็นช่อ ช่อดอกจะเกิดบนลำต้นที่มีใบหรือโผล่ขึ้นมาจากใจกลางของกลุ่มใบ ช่อดอกมีรูปร่างแบบทรงกระบอกหรือรูปกรวย ใบประดับมีสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ตรงปลายช่อดอกจะมีสีชมพูอ่อน จัดเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ มีขน กลีบดอกมีขาว ตรงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว บานครั้งละ 3-4 ดอก


  • ผลขมิ้นชัน รูปกลมหรือรีมี 3 พู  แต่มักไม่ติดผล

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้าที่แก่จัด ใช้ทั้งสดและแห้ง เหง้าแห้งนิยมปนเป็นผง

สรรพคุณ ขมิ้นชัน :

  • เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดหวานเอียน กลิ่นหอม มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และ มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่เรียกว่าเคอร์คูมิน สารสกัดด้วยเอทานอลจากเหง้าสดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระขมิ้นชันไม่มีพิษเฉียบพลัน มีความปลอดภัยสูง ขมิ้นชัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดจี (IgG) และลดความไวต่อตัวกระตุ้น ช่วยขยายหลอดลม ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเป็นสมุนไพรรักษาโรคภูมิแพ้ แก้ไข้เรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน แก้โรคเหงือกบวม แก้บิด, น้ำคั้นจากเหง้าสดทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณบรรเทา อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ท้องร่วง ในตำรายาจีนใช้เป็นยา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดประจำเดือน
  • ผงขมิ้น เคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำทาผิว แก้เม็ดผดผื่นคัน
  • ขมิ้นสด โขลกกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบาดแผลและแก้เคล็ด ขัด ยอก เผาไฟแล้วโขลกรวมกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด
  • ใบ รสฝาดเอียน ใช้ผสมกับยานวดเพื่อคลายเส้น ใช้เป็นส่วนผสมทำยาอายุวัฒนะ แก้ปวดมวน ริดสีดวงทวาร รักษาอาการท้องเดิน ปวดท้อง
  • เหง้าแห้ง บดเป็นผงให้ละเอียดเคี่ยวในน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำใช้ทาผิวกายแก้เม็ดผดผื่นคัน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ขมิ้นชัน

  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด อาหารไม่ย่อย อาการแสบคัน แก้หิว และแก้กระหาย ทำโดยล้างขมิ้นชันให้สะอาด ไม่ต้องปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัดสัก 1-2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3 -4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่บางคนเมื่อกินยานี้แล้วแน่นจุกเสียดให้หยุดกินยานี้
    ใช้ภายใน(ยารับประทาน) :
    • ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง
    • เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง
    ใช้ภายนอก:
    • ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรือ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
    • เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน
    • เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
    • เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆ ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ
    ขนาดที่ใช้ในการรักษาอาการ dyspepsia
    รับประทานผงขมิ้นชันในขนาด 1.5 – 4 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือรับประทานขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันอบแห้ง 250 มก. รับประทานครั้งละ 2 – 4แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • ไม่ควรรับประทานสารสกัดที่ได้จากเหง้าขมิ้นชันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย งุ่นง่าน กระสับกระส่าย ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน และสตรีที่มีครรภ์ในระยะแรกๆ ไม่ควรรับประทานเด็ดขาดเพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้
  • การใช้ขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ถ้าใช้ขนาดสูงเกินไป จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะ
  • คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น โดยมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ ให้หยุดยา
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
  •  ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้
Scroll to top