ชื่อสมุนไพร : คำฝอย
ชื่ออื่น ๆ : คำยุ่ง, คำยอง, ดอกคำ( ภาคเหนือ ), คำ(ทั่วไป)
ชื่อสามัญ : Safflower , american Saffron
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius Linn.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นคำฝอย จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชที่มีอายุสั้น ทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกจะอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงออกดอกคือ 24-32 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 80-120 วันจนเก็บเกี่ยว
- ใบคำฝอย เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรี ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ใบมีความกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร
- ดอกคำฝอย รวมกันเป็นช่ออัดแน่นบนฐานดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกคำฝอยมีลักษณะกลมคล้ายดอกดาวเรือง เมื่อดอกคำฝอยบานใหม่ๆ จะมีกลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่จัดดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ที่ดอกมีใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอกอยู่
- ผลคำฝอย คล้ายรูปไข่หัวกลับ ผลเบี้ยวๆ มีสีขาวงาช้างปลายตัดมีสัน 4 สัน ขนาดของผลยาวประมาณ 0.-6-0.8 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ด้านในผลมีเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวรี เปลือกแข็งมีสีขาว มีขนาดเล็ก เมื่อผลแก่แห้งเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, และเมล็ด
สรรพคุณ คำฝอย :
- ดอกคำฝอย หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน
- เกสรคำฝอย บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี
- เมล็ดคำฝอย เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม ขับโลหิตประจำเดือน ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร
- น้ำมันจากเมล็ดคำฝอย ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ
- ดอกแก่ ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รูปแบบขนาดวิธีการใช้ดอกคำฝอย
- การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
- ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ใช้ดอกคำฝอยแห้งประมาณ 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยแล้วใช้ดื่ม
- ลดความอ้วน ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว
- รักษาตาปลา ใช้ดอกคำฝอยสดและตี้กู่ฝีในปริมาณที่เท่ากัน นำมาตำผสมรวมกัน แล้วใช้ปิดบริเวณที่เป็นตาปลา โดยเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
- ป้องกันแผลกดทับ ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 3 กรัมนำมาแช่กับน้ำพอประมาณจนน้ำเป็นสีแดง แล้วนำมาถูบริเวณที่กดทับ โดยถูครั้งละ 10 – 15 นาที หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันแผลกดทับได้ถึง 100% โดยไม่มีผลข้างเคียง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- แม้ว่าคำฝอยจะมีสรรพคุณที่หลากหลาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือดได้หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี ซึ่งแพทย์แผนจีนมักจะใช้ดอกคำฝอยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอยู่เสมอ จะไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ในระยะยาว
- การรับประทานอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะส่งผลทำให้โลหิตจางได้ มีผลทำให้มีเลือดน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือกลายเป็นคนขี้โรคโดยไม่รู้ตัว
- การรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปอาจจะทำให้มีประจำเดือนมากกว่าปกติ และอาจทำให้มีอาการมึนงง หรือมีผดผื่นคันขึ้นตามตัวได้
- สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคสมุนไพรดอกคำฝอย เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงเลือดและช่วยขับประจำเดือน หากรับประทานหรือรับประทานในปริมาณมากๆ ก็อาจจะทำให้แท้งบุตรได้
ประโยชน์ในด้านอื่นๆของดอกคำฝอย
- ตากแห้งสำหรับชงน้ำร้อนดื่มแทนชา หรือ ต้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย ให้กลิ่นหอม
- ตากให้แห้ง และบด เพื่อสกัดเป็นสีย้อมผ้าที่ได้จากสีเหลืองของสารคาร์ทามีดีน (carthamidine)สีแดงสารคาร์ทามีน (carthamine) สามารถย้อมติดได้ดีในเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยจากพืช
- ใช้ผสมอาหาร อาทิ ผสมเนยแข็ง และปรุงอาหาร เป็นต้น
- น้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย และกลีบดอกสามารถนำมารับประทาน บำรุงเส้นผม บำรุงผิว เสริมสุขภาพ
- ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์เลี้ยง
- ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม
- น้ำมันคำฝอยใช้เป็นวัตถุดิบผลิต Alkyd resins สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสี และกาวเหนียว
- ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า เป็นต้น
- ใช้เป็นน้ำมันเคลือบผิววัสดุให้มีความมันเงา ป้องกันสนิม เช่น งานไม้ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในอินเดียใช้เคลือบรักษาคุณภาพหนังสัตว์ เสื้อผ้าผลิตภัณฑ์เครื่องทอป้องกันการเปียก
- กากของเมล็ด ใบ ลำต้นแห้ง ใช้หมักผสมกับมูลสัตว์เป็นปุ๋ยคอกหรือทำเป็นปุ๋ยพืชสด
- ดอกของคำฝอยยังทำมาชงน้ำร้อนดื่มเพื่อสุขภาพได้แบบเก็กฮวยหรือน้ำชาได้อีกด้วย
ในประเทศจีนนิยมใช้น้ำมันจากเมล็ดหรือกลีบดอกคำฝอยสำหรับประกอบอาหาร เพราะสามารถให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มากกว่า 90% และให้ชื่อน้ำมันคำฝอยว่า king of the linoleic acid เพราะประกอบด้วยกรดไขมันลิโนเลอิกมากถึง 80% ที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง (arteriosclerosis) และลดคลอเรสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์
การปลูกและขยายพันธุ์ดอกคำฝอย
ดอกคำฝอยเติบโตได้ดีในอากาศหนาวหรือแห้งแล้งตามลักษณะของสายพันธุ์ เติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง อายุการปลูกถึงเก็บเกี่ยว 120-200 วัน จึงนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ การขยายพันธุ์จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ด้วยหว่านเมล็ดหรือเพาะชำในถุงเพาะชำก่อนนำปลูกลงหลุม ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก คือ ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนกันยายน แต่ถ้าหากพื้นที่ใดมีน้ำชลประทาน ก็สามารถปลูกได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนตุลาคม และควรเตรียมดินให้มีความชื้นที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของดอกคำฝอยด้วย
การปลูกคำฝอยมี 2 วิธีคือ
- การปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดในอัตรา 0.8-2.0 กิโลกรัมต่อไร่
- การปลูกเป็นแถว ด้วยการหยอดเมล็ด ระยะระหว่างแถว 30-60 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3.0-3.5 กิโลกรัมต่อไร่
ระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกเป็น 5 ระยะ - ระยะแรก หรือเรียกว่า ระยะพุ่มแจ้ (rosette stage) เป็นระยะเติบโตหลังจากการงอกของเมล็ดจนถึงช่วงที่ลำต้นยืดปล้อง ระยะนี้ต้นคำฝอยจะสร้างใบเป็นจำนวนมาก และซ้อนกันแน่นเป็นกลุ่ม (cluster) เป็นระยะที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศอุณหภูมิต่ำ ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตนานขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมในการปลูก
- ระยะที่ 2 เป็นระยะยืดตัวของลำต้น (elongation) หลังระยะพุ่มแจ้ ซึ่งความสูงลำต้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโต 4.5 เซนติเมตร/วัน ในระยะนี้จึงต้องการน้ำ และธาตุอาหารอย่างเพียงพอ
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีการสร้างตา (bud stage) โดยสร้างตาข้างที่มุมใบเจริญเป็นกิ่ง ซึ่งตายอดของลำต้นหลัก และของกิ่งแต่ละกิ่งจะพัฒนาเป็นตาดอกสำหรับสร้างช่อดอก ระยะนี้ต้นคำฝอยจะมีอายุประมาณ 40-50 วัน หลังเมล็ดงอก
- ระยะที่ 4 ระยะดอกบาน (flowering stage) เป็นระยะที่ช่อดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนช่อดอกต่อต้น 3-100 ช่อดอก โดยที่มีการเจริญเติบโตแบบทอดยอด (indeterminate) ช่อดอกที่ลำต้นหลักจะบานก่อนช่อดอกที่กิ่งแขนงของการบานของดอกแรกจนถึงดอกสุดท้าย ประมาณ 17-40 วัน
- ระยะที่ 5 ระยะเมล็ดสุกแก่ (seed maturation stage)เป็นระยะที่มีการผสมเกสรจนถึงเมล็ดสุกแก่ การสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดเกิดขึ้นในระยะ 15 วัน หลังผสมเกสร และระยะการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุดที่ 28 วัน หลังผสมเกสร ระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด ความชื้นในเมล็ดประมาณ 22-25 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และค่าไอโอดีนสูงสุด
ปริมาณกรดไขมัน
– กรดไขมันอิ่มตัว (SATURATED FATTY ACID) 9.15 %
– กรดปาล์มมิติก (PALMITIC ACID) 6.94 %
– กรดสเตียริก (STEARIC ACID) 2.21 %
– กรดไขมันไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FATTY ACID) 90.39 %
– กรดโอลิอิก (OLEIC ACID) 14.48 %
– กรดไลโนลีอิก (LINOLEIC ACID) 75.91 %
การเก็บผลผลิตดอกคำฝอย
การเก็บเกี่ยวเมล็ดคำฝอยจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-200 วัน ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งลำต้น ใบ ดอก และเมล็ด โดยเก็บเกี่ยวทั้งต้นหรือเฉพาะดอก และเมล็ดก็ได้
สำหรับเมล็ดที่เก็บเกี่ยวต้องมีลักษณะแห้ง และแข็ง เมื่อแกะเปลือกจะต้องมีเนื้อของเมล็ดอยู่เต็มหรือเกือบเต็ม สำหรับต้นที่แก่ และแห้งเกินไปจากสาเหตุการขาดน้ำหรือเก็บเมื่อเลยอายุการเก็บอาจทำให้มีลักษณะเมล็ดไม่เต็ม เมล็ดร่วงง่าย ดังนั้น ระยะเก็บเมล็ดที่เหมาะสมควรมีลักษณะต้นแห้ง ลำต้นสีน้ำตาล