ชื่อสมุนไพร : นมแมว
ชื่ออื่นๆ : น้ำจ้อย(ยโสธร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum siamense (Scheff) Ban
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นนมแมว เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เลื้อยได้ไกลถึงประมาณ 2-5 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อไม้เหนียวมาก แตกกิ่งก้านได้มาก เกิดเป็นพุ่มใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น
- ใบนมแมว เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3-6.5 เซนติเมตร ยาว 10-22.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน
- ดอกนมแมว ออกดอกเดี่ยว ที่ซอกใบใกล้ปลายยอด กลีบดอกหนา มี 6 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น สีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม สีเขียว รูปไข่
- ผลนมแมว เป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี และมีตุ่มปลายผลคล้ายกับเต้านมของแมว ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง เปลือกผลนิ่ม มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้โดยจะมีรสหวาน และภายในผลมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เนื้อไม้
สรรพคุณ นมแมว :
- ราก รสฝาดเฝื่อน แก้กาฬผอมแห้งของสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้ ตำผสมน้ำปูนใสทา แก้พิษแมลงกัดต่อย ต้มน้ำดื่ม แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รากนมแมวผสมรากไส้ไก่ และรากหนามพรม ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงจมูก
- เนื้อไม้ รสฝาดเฝื่อน แก้ไข้หวัด แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้ทับระดู ไข้กลับ
- ดอก มีน้ำมันหอมระเหยมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่น นำมาแช่กับน้ำไว้ล้างหน้าจะช่วยทำให้สดชื่น
เอกสารอ้างอิง
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. — กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546. 1,488 หน้า (562)
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. (วีระชัย ณ นคร).
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [26 มี.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 282 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นมแมว ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [26 มี.ค. 2014].
- ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542 หน้า (372).