ชื่อสมุนไพร : ผักกาดน้ำ
ชื่ออื่น ๆ : หมอน้อย, เซียแต้เฉ้า, หญ้าเอ็นอืด, หญ้าเอ็นยืด
ชื่อสามัญ : Common Plantain
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plantago major Linn. (P.indica Linn.)
ชื่อวงศ์ : PLANTAGINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ผักกาดน้ำ เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ที่มีเนื้ออ่อน โคนต้นจะอยู่ติดดินเลย เป็นไม้ที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นจะสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร
- ใบผักกาดน้ำ ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด แต่จะมีก้านใบที่ยาวกว่า ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ ใบเป็นใบเรียงสลับ โคนลำต้นมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ แผ่นใบผักกาดน้ำมีลักษณะหนาคล้ายกับใบผักคะน้า ใบเป็นรูปไข่กลับ และมีขนาดกว้าง โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่นๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-16 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีเส้นใบตามยาวประมาณ 5-7 เส้น โดยลักษณะของใบจะคล้ายกับช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ และใบจะแตกออกรอบๆ บริเวณต้น
- ดอกผักกาดน้ำ ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะชูขึ้นมาจากกลางกอ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีดอกย่อยขนาดเล็ก แห้ง เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล และไม่มีก้านดอก
- ผลผักกาดน้ำ ผลพบได้ในดอก เป็นผลแห้ง ลักษณะค่อนข้างกลมมีรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีขนาดเล็กสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ เมื่อสุกแล้วจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8-15 เมล็ด หรืออาจมีมากถึง 15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ, ทั้งต้น, เมล็ด
สรรพคุณ ผักกาดน้ำ :
- ราก แก้กระษัย แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้อาการช้ำใน
- ใบ แก้เลือดกำเดาไหล ช่วยลดอาการบวม แก้โรคเชื้อราที่เท้า รักษาอาการไหม้จากการถูกแสงแดด ถูกลม แก้ปวดหลังปวดเอว
- ทั้งต้น ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว แก้กามโรค แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ดับพิษร้อน แก้ท้องร่วง ดับพิษฝี แก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น ตำพอกแผลที่หายยาก แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม ช่วยให้หายเมื่อย
- เมล็ด ช่วยทำให้ตาสว่าง แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ขับปัสสาวะ