ชื่อสมุนไพร : ฝรั่ง
ชื่ออื่น ๆ : มะก้วย(เชียงใหม่), มะมั่น(ลำปาง), มะก้วยกา, มะสีดา(ภาคเหนือ), มะก้วยเปา(ลำพูน), มะจีน, มะปุ่น(สุโขทัย-ตาก), มะกา(แม่ฮ่องสอน), สีดา(นครพนม), จุ่มโป่(สุราษฎร์ธานี), มะแกว(แพร่), ชมพู่(ตานี), สีดาขาว(อุบล), ยะรัง(ละว้า-เชียงใหม่), ย่าหมู, ย่ามู(ภาคใต้), ยะมูบุเตบันเยา, มะปุ้ม, ชมพู่(มลายู-นราธิวาส), ปั้กเกี๊ย(จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Guava
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psidium guajava Linn.
ชื่อวงศ์ : MYRTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ฝรั่ง เป็นพรรณไม้ยืนต้น มีขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง ลักษณะผิวเปลือกของ ลำต้นเรียบเกลี้ยง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
- ใบฝรั่ง ลักษณะของใบเป็นใบหนา หยาบ ใต้ท้องใบเป็นริ้วเห็นเส้นใบได้ชัด และมีขนขึ้นนวลบาง ขนาดของใบยาวประมาณ 2-5 นิ้ว กว้างประมาณ 1.5-3 นิ้ว
- ดอกฝรั่ง ดอกออกเป็นช่อ ในช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 3-5 ดอก ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็ก มีสีขาวอมเขียวอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงแข็งมีความคงทนมาก
- ผลฝรั่ง ลักษณะของผลเป็นรูปต่างกัน ตามลักษณะของพันธุ์ และชนิดของมัน แต่ลักษณะของผิวเกลี้ยงเรียบ ผลเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวแก่ หรือเขียวอ่อน แต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น และข้างในผลหนึ่งมีเมล็ด เป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ แข็ง มีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ผล, ราก
สรรพคุณ ฝรั่ง :
- ใบ แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิด หรืออหิวาตกโรค) เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด ระงับกลิ่นปาก แก้ฝี เป็นยาล้างแผล ดูดหนองและถอนพิษบาดแผล แก้เหงือกบวม แก้พิษเรื้อรัง แก้ปวดเนื่องจากเล็บขบ แก้แพ้ยุง
- ผลอ่อน แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน ระงับกลิ่นปาก แก้บิดมูกเลือด มีไวตามินซีมาก เป็นกันหรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) บำรุงเหงือกและฟัน บำรุงผิวพรรณ
- ผลสุก มีสารเพ็กตินอยู่มาก ใช้รับประทานเป็นยาระบายได้
- ราก แก้น้ำเหลืองเสีย เป็นฝี แผลพุพอง แก้เลือดกำเดาไหล