มะปราง

มะปราง

ชื่อสมุนไพร : มะปราง
ชื่ออื่นๆ
:  บักปราง(ภาคอีสาน), มะผาง(ภาคเหนือ), ปราง(ภาคใต้)
ชื่อสามัญ : Marian Plum , Plum Mango
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bouea macrophylla Griffith
ชื่อวงศ์ : Anacardiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมะปราง เป็นไม้ต้น มีทรงต้นค่อนข้างแหลม มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบต้นโต มีขนาดสูง 15-30 เมตร มีรากแก้วแข็งแรง
  • ใบมะปราง เป็นไม้ผลที่มีใบมาก ใบเรียว ขนาดใบโดยเฉลี่ยกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ปีหนึ่งมะปรางจะแตกใบอ่อน 1-3 ครั้ง
  • ดอกมะปราง จะมีดอกเป็นช่อ เกิดบริเวณปลายกิ่งแขนง ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน) ดอกบานจะมีสีเหลือง ในไทยออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
  • ผลมะปราง มีลักษณะทรงกลมรูปไข่และกลม ปลายเรียวแหลม มะปรางช่อหนึ่งมีผล 1-15 ผล ผลดิบมีสีเขียวอ่อน-เขียวเข้มตามอายุของผล ผลสุกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เปลือกผลนิ่ม เนื้อสีเหลืองแดงส้มออกแดงแล้วแต่ชนิดพันธุ์ รสชาติหวาน-อมหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยว-เปรี้ยวจัด
  • เมล็ดมะปราง ผลหนึ่งจะมี 1 เมล็ด ส่วนผิวของกะลาเมล็ดมีลักษณะเป็นเส้นใย เนื้อของเมล็ดทั้งสีขาวและสีชมพูอมม่วง รสขมฝาดและขม ลักษณะเมล็ดคล้ายเมล็ดมะม่วง หนึ่งเมล็ดเพาะกล้าได้ 1 ต้น

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ, น้ำจากต้น, ผล

สรรพคุณ มะปราง :

  • ราก รสเย็น ใช้ถอนพิษไข้ ช่วยถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ ช่วยแก้อาการไข้ตัวร้อน ไข้มีพิษร้อน
  • ใบ รสจืดเฝื่อน แก้ปวดศีรษะ สามารถนำมาตำใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะ
  • น้ำจากต้น เป็นยาอมกลั้วคอ
  • ผล รสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยกัดเสมหะในลำคอ หรือแก้เสมหะมาก รวมทั้งแก้อาการน้ำลายเหนียว ตลอดจนแก้เสลดหางวัว และช่วยในการฟอกโลหิต

[su_quote]ผลไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับมะปรางและจัดอยู่ในสกุล Bouea เหมือนกัน ก็คือ “มะยง” แต่มะยงจะมีขนาดผลใหญ่กว่า ผลดิบมีสีเขียวจัดกว่ามะปราง ผลสุกสีส้ม รสหวานอมเปรี้ยว ไม่มียาง มะยงมี 2 ชนิดคือ “มะยงชิด” และ “มะยงห่าง” มะยงชิดจะมีรสหวานมากกว่าเปรี้ยว จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนมะยงห่างนั้นมีรสเปรี้ยวมากกว่าหวาน และผลไม้อีกชนิดคือ “มะปริง” ซึ่งมีผลขนาดเล็กและกลมกว่ามะปราง เป็นไม้พื้นถิ่นทางภาคใต้ ผลดิบมีสีเขียว รสเปรี้ยวใช้ประกอบอาหารแทนมะนาว และนำไปดองหรือแช่อิ่ม ส่วนผลสุกมีสีเหลือง รสหวานอมเปรี้ยวกินเป็นผลไม้[/su_quote]

Scroll to top