ชื่อสมุนไพร : ลำไย
ชื่ออื่น ๆ : ลำไยป่า(ทั่วไป), เจ๊ะเลอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dimocarpus longan Lour.
ชื่อวงศ์ : SAPINDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นลำไย เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง จะแตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น ลำต้นและกิ่งก้านมีสีน้ำตาลอมเทา
- ใบลำไย ออกใบเดี่ยว มีขนาดเล็ก แต่ใบจะดกหนาทึบ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ลักษณะของใบเป็นรูปหอกปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย มีสีเขียวเข้ม
- ดอกลำไย ออกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้น ซึ่งดอกลำใยนี้จะมีขนาดเล็ก สีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน ๆ
- ผลลำไย พอดอกร่วงโรยไปก็จะติดผลออกมา ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกกลม เปลือกสีน้ำตาล เนื้อในผลสีขาวใส และผลหนึ่งจะมีเมล็ดอยู่ 1 เม็ดมีสีดำ ผลทานได้มีรสหวานจะแก่จัดในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นพรรณไม้ที่มีผู้นิยมทานผลกันมาก และเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของทางภาคเหนือด้วย
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, เมล็ด, ราก, เปลือกผล, เนื้อหุ้มเมล็ด
สรรพคุณ ลำไย :
- ใบลำไย เป็นใบสด มีรสจืดและชุ่ม สุขุม เป็นยาแก้โรคมาลาเรีย ริดสีดวงทวาร ฝีหัวขาด และแก้ไข้หวัด โดยนำเอาต้มน้ำกิน
- ดอกลำไย ใช้ดอกสด หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับหนองทั้งหลาย โดยใช้ใบสดประมาณ 5-30 กรัมต้มน้ำกิน
- เมล็ดลำไย ต้มหรือบดเป็นผงกินจะมีรสฝาด ใช้ภายนอกจะรักษากลากเกลื้อน แผลมีหนอง แก้ปวด สมานแผล ใช้ห้ามเลือด
- รากลำไย หรือเปลือกรากลำไย ต้มน้ำกินหรือเคี้ยวให้ข้นผสมกิน มีรสฝาด แก้สตรีตกขาวมากผิดปกติ ขับพยาธิเส้นด้าย
- เปลือกผลลำไย ใช้ที่แห้งนำมาต้มน้ำกิน แก้อาการวิงเวียนศีรษะและอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่น จะมีรสชุ่ม หรือใช้ทาภายนอก โดยเผาเป็นเถ้าหรือบดเป็นผงโรยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- เนื้อหุ้มเมล็ดลำไย นำมาต้มน้ำกินหรือแช่เหล้า เป็นยาบำรุงม้ามเลือดลมและหัวใจ บำรุงร่างกาย สงบประสาท แก้อ่อนเพลียจากการทำงานหนัก ลืมง่าย นอนไม่หลับ ประสาทอ่อน หรือจะบดเป็นผงผสมกับยาเม็ดกินก็ได้
ข้อห้ามใช้ : คนที่มีอาการเจ็บคอ หรือไอมีเสมหะ หรือเป็นแผลอักเสบจนมีหนอง ไม่ควรกินเนื้อของผลลำไย