ชื่อสมุนไพร : อุตพิต
ชื่ออื่น ๆ : บอนแบ้ว (เชียงใหม่), มะโหรา(จันทบุรี), อุตพิษ, อุตตพิษ(ไทย), ขี้ผู้เฒ่า(อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typhonium trilobatum Schott.
ชื่อวงศ์ : ARACEAE
ลักษณะทางพฤษศาตร์ :
- ต้นอุตพิต เป็นไม้ล้มลุก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-45 เซนติเมตร จัดเป็นว่านที่มีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน เมื่อถึงฤดูฝนก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ลักษณะของหัวค่อนข้างกลมหรือแป้นเล็กน้อย วัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร เนื้อในหัวเป็นสีขาวหรือสีนวล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
- ใบอุตพิต ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นวงบริเวณผิวดิน แผ่นใบแผ่ย่นเป็นลอนเล็กน้อย ใบเป็นรูปไข่ปลายแหลมหรือเป็นรูปลูกศรแกมรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบ่งออกเป็นแฉก 3 แฉก โคนใบเว้าลึกเข้าหาก้านใบ มีความกว้างและยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลายหรือมีจุดประสีม่วง
- ดอกอุตพิต ดอกเป็นช่อ แทงมาจากหัวใต้ดินขึ้นมาเป็นแท่งยาว ๆ ก้านช่อดอกเป็นสีเลือดนกปนสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้ม ช่อดอกมีกาบหุ้มยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กาบมีสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานแล้วจะเห็นดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศเมียจะอยู่ตรงโคนแท่ง เหนือดอกเพศเมียเป็นดอกฝ่อสีขาว ถัดไปเป็นที่ว่าง เหนือที่ว่างจะเป็นดอกเพศผู้สีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่ดอกจะมีกลิ่นเหม็นคล้ายอาจมหรืออุจจาระ
- ผลอุตพิต ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, กาบ, ก้านใบ, ราก
สรรพคุณ อุตพิต :
- หัว ใช้เป็นยากัดเถาดานในท้อง กัดฝ้าหนองสมานแผลหรือใช้หุงเป็นน้ำมันใส่แผล และใช้ปิ้งไฟใช้กินได้
- กาบ นำไปหั่นให้ละเอียด ใช้ดองกินเป็นอาหารผักได้
- ก้านใบ ลอกเปลือกออกใช้แกงส้มแบบเดียวกับแกงบอนได้
- ราก จะมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร ใช้กินกับกล้วยรักษาโรคปวดท้อง หรือใช้ทาภายนอกและกินรักษาพิษงูกัดได้
ยอดอ่อน ก้านใบ นำมาเผาไฟ แล้วนำไปทำแกงกะทิได้ กาบใบนำมาหั่นให้เป็นฝอยละเอียดใช้ดองกินเป็นอาหารผักหรือเครื่องเคียง ก้านใบนำมาลอกเปลือกออกใช้แกงส้มแบบเดียวกับแกงบอนหรือนำไปทำแกงคั่วก็ได้
อุตพิตสดจัดว่าเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อถูกยางหรือของเหลวจากต้นก็จะทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบ และพองเป็นตุ่มน้ำใส หรือถ้าหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้[3] ก่อนนำมารับประทานจึงควรทำให้สุกเสียก่อน